9 วิธีหาเงิน เพื่อนำมาลงทุนกับธุรกิจของคุณ !!! หรือจะหาเงินทุนจากแหล่งไหนดีให้เหมาะกับธุรกิจ
จากประสบการณ์ที่ผมอยู่ในวงการ Startups ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่นักธุรกิจใหม่หรือผู้ที่อยากลองเริ่มธุรกิจมักพูดถึงคือ การไม่มีเงินเพื่อมาลงทุนแรกเริ่มให้กับธุรกิจ หรือจะหาเงินทุนจากแหล่งไหนดีให้เหมาะกับธุรกิจของคุณมากที่สุด
วันนี้ผมจะมาแชร์ 9 ทางเลือกสำหรับการหาเงินเพื่อมาลงทุนกับธุรกิจ:
1. Bootstrap: หรือก็คือ การใช้เงินตัวเองเพื่อลงทุนกับธุรกิจ
ถึงจะมีวิธีมากมายเพื่อหาเงินมาลงทุนกับธุรกิจ แต่การใช้เงินตัวเองก็ยังคงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเริ่มต้นธุรกิจ ถ้าในกรณีที่คุณมีเงินทุนของตัวเองอยู่มากยิ่งอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดเลย เพราะรวดเร็ว (ไม่ต้องไปโน้มน้าวใคร) มีอิสระ (ไม่ต้องมีพันธะสัญญากับใคร) และมีความยืดหยุ่นสูง (เวลาคุณต้องการเปลี่ยนแผนธุรกิจก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องอธิบายใคร) แต่ผมเข้าใจว่า Startup โดยมากจะมีเงินทุนอยู่อย่างจำกัด บ้างรายถึงขั้นน้อยมากเลยทีเดียว ดังนั้นผมจะขอบอกหลักสำคัญในการ Bootstrap ไว้อย่างนี้ คือ “ถ้าคุณมีเงินทุนเริ่มแรกอยู่อย่างจำกัด จงใช้มันเพื่อทดสอบ Business Model & Product Market Fit เท่านั้น” ที่สำคัญคือ ห้ามเอาเงินที่มีอยู่อย่างน้อยนิดไปสร้างแบรนด์โดยไม่จำเป็นเด็ดขาด โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ให้กับ Product ที่เรายังไม่รู้ว่าจะมีคนต้องการมันหรือไม่ แล้วถ้าเกิดคุณมั่นใจกับ Business Model & Product Market Fit แล้วยังมีเงินเหลืออยู่ จงใช้เงินนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นายทุนที่คุณจะไปคุยด้วยว่าธุรกิจคุณมีความสามารถในการ Scale
2. Co-founders Money: คือการขอเงินเพื่อนหรือคนรู้จักมาเป็นเงินทุนแรกเริ่มเพื่อแลกกับสัญญาที่จะให้หุ้นส่วนทางธุรกิจในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง
วิธีนี้ค่อนข้างเป็นวิธีที่น่าสนใจสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในตอนต้น ในขั้นตอนนี้คุณอาจยังไม่มีแผนธุรกิจเพื่อโน้มน้าวให้ใครเข้าร่วม คุณอาจยังไม่มี Business Model ที่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่าใช้ได้ผล แต่สิ่งเดียวที่คุณต้องมีคือความฝันและวิสัยทัศน์ ดังนั้นคนที่นำเงินมาเข้าร่วมกับคุณมักจะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (หลายครั้งคนที่มาเข้าร่วมในลักษณะนี้อาจไม่ได้สนใจเงินสักเท่าไหร่ แต่สนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับความยิ่งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น) ดังนั้นโดยส่วนใหญ่ Co-founder ในระยะแรกมักจะเป็นคนรู้จักหรือเพื่อนสนิทของคุณ เงินที่นำมาเข้าร่วมก็อาจจะยังไม่มาก โดยมากจะอยู่ในหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท
3. Down-payment & Pre-sales: คือการหาเงินมาเริ่มธุรกิจจากการขอเงินมัดจำหรือการขายสินค้าล่วงหน้า
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่านักธุรกิจบางคนสามารถสร้างธุรกิจร้อยล้านได้โดยใช้เงินเริ่มต้นไม่ถึงหมื่นบาท ที่เขาทำได้เพราะเขาใช้วิธีที่เราเรียกกันว่า “จับเสือมือเปล่า” วิธีที่ใช้คือการหาความต้องการของลูกค้าที่จะซื้อสินค้าจำพวกหนึ่ง จากนั้นก็ขอรับเงินจากลูกค้าแล้วนำไปซื้อสินค้าจากอีกแหล่งหนึ่งที่มีราคาถูกกว่าเพื่อมาให้ลูกค้าของคุณ แค่นี้คุณก็จะได้กำไรจาก margin ของสินค้าที่คุณหามาได้ในราคาถูกเพื่อมาขายเอากำไร หรืออีกแบบคือการรับเงินจากลูกค้าก่อนที่คุณจะผลิตสินค้า เมื่อได้เงินมาแล้วค่อยผลิตสินค้า ซึ่งทั้งสองวิธีนั้น สิ่งจำเป็นที่คุณต้องมีคือ “ความน่าเชื่อถือ” ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้ในการหาเงินเริ่มต้นธุรกิจจึงมักสร้างความน่าเชื่อถือในแวดวงธุรกิจที่ตัวเองอยู่ ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจเป็นปี
4. Revenue: คือใช้เงินจากรายได้ในธุรกิจนั้นๆมาลงทุนต่อ
ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจมาก ยิ่งถ้าธุรกิจของคุณต้องการเงินเริ่มต้นไม่มากคุณสามารถผลิตสินค้าที่อาจยังไม่ดีเลิศแต่สามารถขายได้ แล้วนำเงินที่ได้มาต่อเติมธุรกิจให้ดีขึ้นในอนาคต วิธีนี้เป็นวิธีที่สำคัญมากที่ Startup CEO หลาย ๆ คนควรจะฝึกฝน บางครั้งในทางปฏิบัติเราอาจต้องดำเนินธุรกิจขานึงอบบ SME เพื่อหารายได้ในช่วงเริ่มต้นควบคู่ไปกับการสร้างผลิตภัณฑ์และ Acquire Users ในแบบ Startups ไปพร้อม ๆ กัน
5. Angel Investor: คือการหาเงินจากนักลงทุน ซึ่งอาจเป็นคนรู้จักของคุณ หรืออาจเป็นคนที่คุณไม่รู้จักมาก่อน
คนประเภทนี้มักเป็นคนที่มีเงินทุนอยู่ค่อนข้างมาก (ซึ่งโดยมากจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว) และสามารถรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง ซึ่งเขาจะนำเงินมาลงกับธุรกิจของคุณเพื่อแลกกับหุ้นของธุรกิจ ซึ่งในระยะนี้คุณควรจะมี Business Plan & Business Model ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว และคุณควรจะมี Financial Plan (และ Exit Plan ในบางกรณี) สำหรับไว้พูดคุยกับนักลงทุน ซึ่งในระยะนี้เงินลงทุนมักจะอยู่ที่หลักแสนถึงหลักล้าน (อาจสูงถึงร้อยล้านในบางกรณี)
6. Venture Capital (VC) หรือ Corporate Venture Capital (CVC): คือการหาเงินจากบริษัทกองทุนที่มีนโยบายลงทุนกับธุรกิจ Startup
ซึ่ง VC จะมีลักษณะคล้ายๆกับ Angel Investor แต่เอกสารประกอบการสัมภาษณ์อาจต้องรัดกุมมากกว่า Angel Investor (โดยมาก VC จะค่อนข้าง conservative มากกว่า Angel Investor) และสิ่งที่จำเป็นเลยคือ Exit Plan เพราะ หลายๆ VC จะไม่ต้องการถือหุ้นของธุรกิจคุณไปตลอด พวกเขาเพียงแค่ต้องการนำเงินมาลงกับธุรกิจ เลี้ยงธุรกิจคุณให้โต แล้วขายหุ้นทิ้งเมื่อมีมูลค่าสูง (โดยมากพวกเขาจะต้องการให้คุณทำ IPO) แล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนต่อ ซึ่งเงินที่ VC ลงทุนอาจสูงถึงหลายพันล้านบาท (บางกรณีอาจถึงหมื่นล้าน)
7. Bank: คือการกู้เงินธนาคารมาลงทุนนั่นเอง
ซึ่งคุณจำเป็นจะต้องมีหลักประกัน แล้วอาจต้องมีประวัติการดำเนินกิจการมาบ้างแล้ว (นี่คือสาเหตุที่ Startup ส่วนใหญ่ไม่สามารถหาเงินได้โดยวิธีนี้) ซึ่งสิ่งที่ธนาคารต้องการไม่ใช่หุ้นทางธุรกิจ แต่ธนาคารต้องการเพียงแค่คุณต้องจ่ายเงินต้นให้ครบตามกำหนดรวมทั้ง “ดอกเบี้ย” ข้อดีของการหาเงินด้วยวิธีนี้คือ เงินที่ต้องเสียให้ธนาคารอาจเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการที่ต้องเสียหุ้นให้กับ Angel Investor หรือ VC ในระยะยาว (ในกรณีที่ธุรกิจประสบความสำเร็จ) แต่ข้อเสียคือ เมื่อใดที่คุณกู้เงินธนาคาร เมื่อนั้นผู้กู้จะมีความเสี่ยงทันที เนื่องจากต้องนำหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน ถ้าธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จคุณก็อาจต้องสูญเสียหลักทรัพย์นั้นๆ หรือล้มละลาย
8. IPO: คือการนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้กับธุรกิจนั่นเอง
ซึ่งมันจะสามารถสร้างเงินให้กับกลุ่มเจ้าของธุรกิจได้อย่างมหาศาล ผมขอไม่กล่าวถึง IPO มากเนื่องจากจะไม่ค่อยเกี่ยวกับ Startup ที่ยังไม่มีเงินทุนในช่วงแรก (เพราะธุรกิจที่ทำ IPO จะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากในระดับหนึ่งแล้ว)
9. Crowd Funding: คือการระดมทุนจากปวงชน
ซึ่งเป็นนวัตกรรมการระดมทุนเพื่อโครงการสร้างสรรค์ นวัตกรรม และธุรกิจใหม่ วิธีนี้เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ (ในหลายประเทศมีเงินไหลเวียนให้ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นหลายหมื่นล้านในแต่ละปี) ซึ่งการระดมทุนแบบนี้จะมีเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างโครงการหรือธุรกิจใหม่ นำไอเดียของตนมาลงบนเว็บไซต์ จากนั้นเมื่อผู้คนในสังคมได้เห็นไอเดียที่อยู่บนเว็บไซต์แล้วสนใจอยากให้โครงการหรือธุรกิจนั้นเกิดขึ้น ก็จะสนับสนุนเงิน (เหมือนการบริจาค) มากบ้าง น้อยบ้าง (อาจน้อยกว่าร้อยบาทถึงมากกว่าแสนบาท) ซึ่งในบางกรณีเมื่อผู้สนับสนุนบริจาคเงินให้แล้วก็อาจได้ของตอบแทนเป็นสินค้าหรือของที่ระลึกตามแต่ที่เจ้าของโครงการตกลงไว้ การหาเงินทุนในลักษณะนี้มีส่วนช่วย Startup เป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณสามารถหาเงินได้เป็นจำนวนมากโดยอาจยังไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนมากนักแต่มีสินค้าและไอเดียที่น่าสนใจ และคุณยังสามารถทดสอบความต้องการของตลาดและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้ในกรณีที่คุณต้องการหาเงินจาก Angel Investors & VCs ในระยะต่อไป
TZ Thanazit Kittisangsuwan,
CEO of KEEN PROFILE,
CEO of YAK START